Learning to Appreciate Ideas

เราคิดว่าการมีเวลาว่างเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ อย่างน้อยก็เราคนหนึ่งที่เมื่อมีเวลาว่างแล้วมักจะหาทางชื่นชม(appreciate)อะไรใหม่ๆ ไม่แน่ใจว่าทุกคนจะตีความการชื่นชมยังไงจึงขอยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่าเราอาจจะคิดว่าไม่ชอบเพลงร็อคเพราะมันหนวกหู สับสน เหนื่อยรึอะไรก็ตามแต่ แล้วก็จะคิดว่ามันไม่น่าสนใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเจออะไรดีๆในร็อคไม่ได้ แต่ในที่นี้เราขอแยกพูดถึงแต่การชื่นชมองค์ความรู้อะไรสักอย่างแล้วกัน

ตอนนี้เราคิดว่าเข้าใจการทำงานของสมองตัวเองมากขึ้นจากโมเดลกล่องง่ายๆ(แต่ดีกว่า contemplate กับ calculate) การค้นหาเรื่องที่น่าสนใจคือการสร้างกล่อง จากนั้นเราก็เลือกตามหาความรู้เฉพาะอย่างมาใส่ในกล่อง  แต่ก่อนเรารู้สึกไม่ดีที่เอาเวลาไปชื่นชมเรื่องใหม่ๆแทนที่จะทำโจทย์เรื่องเดิมเยอะๆ แต่หลังจากนั้นก็พบว่าเราไม่สามารถอยู่กับวิชาที่ที่จริงควรรู้นะแต่ว่าเราไม่สนใจได้ เราจึงสรุปว่า prior knowledge นั้นสำคัญแต่ prior interest สำคัญยิ่งกว่า ถ้าเราไม่มีกล่องตั้งแต่แรกก็เก็บอะไรไม่ได้

prior interest นี้บางทีก็มาแว๊บเดียวเมื่อสมอง register อะไรสักอย่างจากข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งบางทีข้อมูลนั้นก็เป็นอะไรธรรมดาสามัญดูไม่สลักสำคัญและก็ไม่ได้ทำให้คนอื่น”แว๊บ”เหมือนกัน เช่นความจริงที่ว่า 0.9…=1 เรายังจำได้จนทุกวันนี้ว่าอาจารย์บอกว่า 0.9… กับ 1 เป็นชื่อสองชื่อของของอย่างเดียวกัน”เหมือนผมก็มีชื่อจริงชื่อเล่น” คำพูดนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มจากสมการแต่มันโยงภาษาคณิตศาสตร์กับภาษาคนโดยตรง โดยปกติคนเรามักเผลอจำข้อความเป็นรหัส/สัญลักษณ์แทนที่จะแปลความมันออกมาให้ตัวเองเข้าใจ อย่างเราเคยเล่าให้คนฟังว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ(เวอร์ชันตามตำราทั่วไป)มีสัจพจน์หนึ่งว่าความเร็วของแสงคงที่เสมอ เราต้องถามต่อจากนั้นว่าฟังแล้วเป็นไง? แปลกมั๊ย? เมื่อได้คำตอบว่าไม่แปลกเราจึงจะพูดเรื่องความเร็วสัมพัทธ์ต่อว่าถ้าเราบอกว่าความเร็วของลูกบอลคงที่เสมอจะแปลกไหม? ถ้าเรายืนอยู่บนโลกเฉยๆแล้วปาบอล กับยืนบนหลังคารถแล้วปาบอลความเร็วจะเท่ากันไหม? เพราะคำว่า”ความเร็วคงที่เสมอ”ถูก register ในสมองเป็นคำศัพท์เทคนิคคำหนึ่งเท่านั้น ต่อเมื่อเราอธิบายต่อผู้ฟังจึงจะสามารถชื่นชมว่ามันมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา เพราะอย่างนี้เราจึงรู้สึกว่าเวลาที่อยู่กับอาจารย์ดีๆมีอะไรน่าสนใจหรือน่าตื่นเต้นมากกว่าอยู่ไปวันๆ

การชื่นชมคอนเซปต์อะไรสักอย่างคือการค้นพบความหมายที่เราเข้าใจได้, ว่ามันมีความหมายต่อเรา แล้วข้อดีของมันคืออะไร? เราคิดว่ามันฟังดูง่ายมากเลยที่จะชื่นชมอะไรที่เรามีแนวโน้มว่าจะชื่นชมอยู่แล้ว จินตนาการออกไปไกลๆนอกตัวว่าโลกเป็นสิ่งสวยงามน่าชื่นชม ต้องลองคิดว่าเราจะชื่นชมไอเดียที่เราไม่ชอบได้อย่างไร ต้องระวังว่าการชื่นชมไม่เหมือนกับการคิดหาข้อดี เช่น ทฤษฎียีนเห็นแก่ตัว(selfish gene)บางคนอาจจะคิดถึงคำว่าเห็นแก่ตัวไปในทางลบก่อนที่จะลองดูว่ามันคืออะไร การชื่นชมไม่ใช่การคิดว่า”ความเห็นแก่ตัวก็คงมีข้อดี(ที่คนอื่นเห็นแต่เราไม่เห็น/แต่เราถือว่ามีข้อเสียมากกว่า)”บนฐานความคิดและข้อมูลเดิม ถึงแม้ฐานความคิดจะเปลี่ยนได้ยากแต่ข้อมูลนั้นอัพเดทง่าย ก็อ่าน selfish gene ซะสิ เราก็เคยผ่านการยอมรับไอเดียที่ตอนแรกจะไม่อยากเห็นด้วยเช่น GMOs (จากการเลือกทำรายงานเรื่องนี้ในวิชาการเขียนเพื่อวิจัยแต่ยังคิดว่ามันอันตรายในแง่ของสิทธิบัตร) และมีอีกหลายๆเรื่องที่เราอยากจะลองชื่นชมมันดูเช่นระบบทุนนิยม เราคิดว่าการชื่นชมเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาพลังของความคิดนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ตัวอย่างตรงกันข้ามที่ทุกๆคนคงเคยเจอคือเรียนแล้วลืมเพราะไม่เห็นว่าสิ่งที่เรียนน่าชื่นชมสนใจ

ฉะนั้นนิสัยความต้องการชื่นชมทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะมาจากความต้องการสะสมอาวุธซึ่งคงจะพูดในคราวต่อไป ที่จริงมันก็มีสาเหตุอื่นแต่เราคิดว่าควรหลีกเลี่ยงเช่นการชื่นชมหลายๆอย่างทำให้เราเพิ่มสถานภาพทางสังคมได้เพราะจะมีเรื่องคุยมากกว่าทำให้ดูฉลาดมากกว่า แต่การมีเรื่องคุยมากกว่าเราก็ชอบนะ เพราะเราเกิดมาเป็นคน indifferent และปากหนักมากเกินไป บล็อกนี้เราก็อยากจะใช้พูดเรื่องน่าสนใจต่างๆที่อาจจะไม่เคย”กระแทก”คนอ่าน การสำรวจว่า”ตัวผู้คิดสื่อสารกับโลกภายนอกอย่างไร”ก็เป็นหนึ่งในนั้น

(ถ้าถามเราคนอ่านบล็อกนี้มี 1. เพื่อนนักฟิสิกส์ ทำให้เราอยากเขียนวิชาที่ไม่ใช่ฟิสิกส์ 2. เพื่อนนักอื่นๆทำให้เราอยากเขียนฟิสิกส์ 3. น้อง ทำให้เราอยากเขียนสาระประหลาดๆที่ไม่เจอในระดับมัธยม และ 4. ทุกๆคนรวมทั้งคนในครอบครัว ทำให้เราอยากเขียนเรื่องใกล้ตัวอย่างในโพสท์นี้)

About Ninnat Dangniam

นักเรียน, นักเขียน, นักวาด
This entry was posted in Uncategorized. Bookmark the permalink.

2 Responses to Learning to Appreciate Ideas

  1. tipche says:

    เมื่อก่อนเราไม่ค่อยชอบอ่านอะไรเยอะ เพราะหวาดระแวงว่าจะยึดติดกับความรู้นั้นๆ แต่ตอนนี้ก็เปิดใจยอมรับความรู้ใหม่ๆ ได้มากขึ้น และคิดว่าคงเริ่มศึกษาจากจุดสำคัญๆ และแก่นของมันก่อน แล้วค่อยสรุปว่าชอบสิ่งนั้นๆ หรือไม่ ถ้าชอบก็ค่อยลงลึกในรายละเอียด

  2. Ninnat Dangniam says:

    เราเพิ่งนึกได้ว่าแต่ก่อนเรายึดติดแม้กระทั่งไม่ยอมใช้คำพูดที่เราคิดว่าความหมายไม่เหมือนกันมาแทนกัน เช่น ไม่ยอมใช้ I believe แทน I think ถึงในคลาสจะแนะนำให้ใช้สลับกันบ้างเพื่อสีสัน หรือไม่ใช้และไม่ฟังคำเราคิดว่าความหมายไม่ชัดเจน เช่น ความรักชาติ,ความขยัน, good ฯลฯ เดี๋ยวนี้บางทีก็ยอมใช้(แต่ต้องอธิบายให้คนอื่นฟังว่าหมายถึงอะไร) คำอย่าง รักชาติ แทนความรู้สึกที่ทำให้เรามานั่งเขียนบล็อกเป็นภาษาไทยอยู่เนี่ย หรือ ใช้คำว่า good เพื่อความสะดวกเฉยๆไว้ ละความหมายที่คลุมเครือไว้ในฐานที่เข้าใจ

Leave a reply to tipche Cancel reply